อันตรายและข้อควรระวังจากการใช้ CPAP โดยไม่ได้พบแพทย์

6254 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อันตรายและข้อควรระวังจากการใช้ CPAP โดยไม่ได้พบแพทย์

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ วิชญ์  บรรณหิรัญ
American Board of Sleep Medicine
Certified International Sleep Specialist  

  ปัจจุบันเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง (continuous positive airway pressure) หรือที่คนทั่วไปนิยมเรียกว่า CPAP อ่านว่า “ซีแพ็บ”  เป็นการรักษาที่นิยมและได้ผลดีวิธีหนึ่งในการรักษานอนกรน และ โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea หรือ OSA) โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการรุนแรงและง่วงนอนกลางวันมากผิดปกติ โดย CPAP มีอยู่หลายชนิด เช่น แบบตั้งแรงดันลมคงที่ หรือ manual CPAP, แบบปรับแรงดันอัตโนมัติ หรือ auto-PAP และแบบตั้งแรงดันลม 2 ระดับ หรือ BPAP อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอาจมีความเข้าใจไม่ถูกต้อง โดยไปซื้อ CPAP มาใช้เอง ไม่ได้ผ่านการตรวจของแพทย์ และไม่ได้ทำ sleep test ที่มีการแปลผลอย่างถูกต้องก่อน

บทความนี้จึงต้องการให้คำแนะนำเพื่อตระหนักถึง อันตรายและข้อควรระวังจากการใช้ CPAP โดยไม่ได้ตรวจดังนี้

  1.  นอนกรน และโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น หรือ OSA เป็นโรคเรื้อรังและควรหาสาเหตุก่อนรักษา เนื่องจากอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคหลายอย่าง เช่น ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางจราจร โรคหัวใจ โรคระบบประสาทและสมอง ภาวะซึมเศร้า เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ รวมถึงโรคอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ดังนั้นก่อนรักษาจึงควรเริ่มต้นอย่างถูกต้อง

  2. การไม่ได้พบแพทย์ตรวจ และไม่ได้ทำการทดสอบการนอนหลับ (sleep test) ทำให้ไม่ทราบถึงข้อมูลพื้นฐานทางสุขภาพ และไม่มีข้อมูลเพียงพอถึงความจำเป็นหรือข้อบ่งชี้ในการใช้ CPAP ว่ามีหรือไม่ อีกทั้งอาจทำให้บดบังอาการ เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของโรคที่ยังมีหลงเหลืออยู่มากผิดปกติจากการรักษาที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม ที่สำคัญคือ ไม่ได้รับการแก้ไขที่สาเหตุ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจาก CPAP โดยไม่จำเป็น

  3.  การเลือกวิธีรักษานอนกรน และโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น หรือ OSA ต้องนำผล sleep test มาใช้ช่วยประเมินลักษณะความรุนแรงและความเสี่ยงต่อผลแทรกซ้อนต่าง ๆ ของโรค อีกทั้งช้ประกอบการวางแผนพิจารณาการตัดสินใจเลือกวิธีรักษาร่วมกับลักษณะต่าง ๆ ของผู้ป่วยด้วย เช่น โรคประจำตัว อายุ เพศ ดัชนีมวลกาย อาการความง่วงผิดปกติ ตลอดจนความต้องการ ลักษณะเฉพาะ หรือข้อจำกัดต่าง ๆ ของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและเหมาะสมที่สุด

  4. การรักษานอนกรน และโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ด้วยแนวทางวิธีการรักษาแบบเฉพาะบุคคล (personalized therapy) หรือการแพทย์แม่นยำ (precision medicine) ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางมากขึ้น จากการคำนึงถึงและเคารพความแตกต่างระหว่างบุคคล รวมถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ของผลการศึกษาวิจัยที่มีมาในอดีต โดยมีวิธีการรักษามากมายหลายอย่าง อาจใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือใช้หลายวิธีการร่วมกัน เช่น การรักษาแบบอนุรักษ์ ลดน้ำหนัก สุขอนามัยการนอน การปรับท่านอน การใช้อุปกรณ์ในช่องปาก (oral appliances) การผ่าตัดทางเดินหายใจส่วนบน (upper airway surgery) การใช้คลื่นวิทยุ การใช้เลเซอร์ และบางรายอาจรักษาด้วยยาหรือทางเลือกอื่น เช่น ยาพ่นจมูก เครื่องกระตุ้นประสาท การฝึกกล้ามเนื้อ และอื่น ๆ *ไม่ใช่ทุกรายที่จำเป็นหรือเหมาะสมกับการใช้ (CPAP)* ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ ซึ่งมีสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น โสต ศอ นาสิกแพทย์ อายุรแพทย์ จิตแพทย์ หรือกุมารแพทย์ เพื่อให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและเหมาะสมก่อน

  5.  ผู้ป่วยหลายรายควรต้องระวังเป็นพิเศษถึงผลแทรกซ้อนจากการใช้ CPAP เช่น ผู้ป่วยภูมิแพ้จมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ ผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดและหลอดลมเรื้อรัง ผู้ป่วยที่อ้วนมาก (ดัชนีมวลกายเกิน 35 กก./ตรม.) ผู้ป่วยโรคหัวใจชนิดต่าง ๆ หรือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรคระบบประสาทและสมองเสื่อม กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยหลังผ่าตัด หรือมีโรคประจำตัวอื่น ๆ

  6. ผู้ป่วยแต่ละรายเหมาะสมกับชนิดเครื่อง CPAP ที่แตกต่างกัน ต้องการแรงดัน CPAP ไม่เท่ากัน (เครื่องอัตโนมัติ หรือ auto ก็จำเป็นต้องตั้งค่าต่าง ๆ ช่วงของแรงดันลมกว้างแคบไม่เท่ากัน) นอกจากยังเหมาะสมกับหน้ากากที่แตกต่างกัน นอกจากนี้บางรายอาจต้องใช้ค่าตั้งเครื่องหรือแรงดันลมแบบพิเศษ หรืออาจต้องใช้อุปกรณ์เสริม เช่น เครื่องทำความชื้นที่มีระบบความร้อน (heated humidifiers), สายรัดคาง (chin strap) หรือต้องใช้ออกซิเจนเสริม ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อน

  7.  การใช้เครื่อง CPAP อาจเกิดผลข้างเคียงหลายอย่าง แม้ว่าจะเป็นเครื่อง auto หากใช้ช่วงแรงดันที่กว้างเกินไปหรือแคบเกินไปหรือการผ่อนลมไม่เหมาะสม เช่น บางรายอาจมีการคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ หรือมีระดับออกซิเจนในเลือดยังไม่เพียงพอ บางรายอาจเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากส่วนกลางที่เกิดจากการรักษา (treatment-emergent central sleep apnea: TECSA) ทำให้ดัชนีการหยุดหายใจและหายใจแผ่วไม่ลดลงเท่าที่ควร นอกจากนี้ยังอาจเกิดปัญหาอื่น ๆ อีกเช่น จมูกแห้ง ปากและคอแห้ง คัดจมูก เลือดกำเดาไหล ไซนัสอักเสบ ผื่นแพ้บริเวณผิวสัมผัสหน้ากาก เยื่อบุตาอักเสบจากลมรั่วเข้าตา หูอื้อ ท้องอืดจากลมที่มากเกินไป ลมรั่วจากหน้ากาก ลมรั่วออกทางปาก ปวดมึนศีรษะ บางรายทนแรงดันจากการใช้เครื่องไม่ได้ บางรายกลัวที่แคบ และอาจมีการติดเชื้อในระบบการหายใจ ปอดอักเสบ หรือมีการแพร่เชื้อโควิด และบางเครื่องอาจมีสารก่อมะเร็งได้ (ต้องนำมาเปลี่ยนอุปกรณ์บางส่วน) การปรึกษาแพทย์เฉพาะทางจะช่วยป้องกันและแก้ไขผลข้างเคียงต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

  8.   เครื่อง CPAP แต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อ มีระบบการทำงาน (algorithm) ที่แตกต่างกัน ค่าที่บันทึกได้ในเครื่องอาจไม่เท่ากัน รวมถึงอาจให้แรงดันเฉลี่ยไม่เท่ากัน ทั้งนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนยืนยันถึงผลในระยะยาวในแต่ละรุ่น ว่ามีมาตรฐานทางประสิทธิภาพและความปลอดภัยแตกต่างกันหรือไม่ ก่อนเลือกใช้จึงควรสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ เพื่อรับทราบถึงข้อมูลดังกล่าวประกอบการตัดสินใจ  

   สรุปข้อแนะนำในการใช้ CPAP

            ก่อนการรักษาด้วย CPAP ผู้ป่วยควรได้รับการประเมินจากแพทย์และได้รับทดสอบการนอนหลับ (sleep test) หรือการตรวจอื่น ๆ เหมาะสม เพื่อวางแผนการรักษาอย่างปลอดภัย หากต้องใช้เครื่องควรให้แพทย์จะตั้งค่าต่าง ๆ และผู้ป่วยควรทดลองเครื่องและเลือกสวมหน้ากากที่เหมาะสมก่อนใช้ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรใช้เครื่องได้ตลอดทั้งคืนและทุกคืน หรือมากเท่าที่จะทำได้ จนกว่าจะได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุหรือใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ เพื่อได้ผลการรักษาที่ดี โดยหลังใช้ควรนำผลการใช้เครื่องมาติดตามดูแลรักษากับแพทย์เป็นระยะ ๆ โดยผู้ป่วยไม่ควรซื้อเครื่อง CPAP มาใช้เองโดยไม่ได้ผ่านการตรวจอย่างละเอียด เนื่องจากหากตั้งค่าและดูแลไม่เหมาะสมจะเกิดผลแทรกซ้อนที่อันตรายได้

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้