การร้อยไหมตกแต่งลิ้นไก่เพดานอ่อนและคอหอย แก้นอนกรน

5954 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การร้อยไหมตกแต่งลิ้นไก่เพดานอ่อนและคอหอย แก้นอนกรน

รองศาสตราจารย์นายแพทย์วิชญ์ บรรณหิรัญ
American Board of Sleep Medicine
Certified international sleep specialist

การร้อยไหมตกแต่งลิ้นไก่เพดานอ่อนและคอหอย (barbed uvulopalatopharyngoplasty)

ปัจจุบันมีเทคนิคใหม่เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในการรักษานอนกรน และโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea หรือ OSA) ซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยการใช้ไหมแบบมีเงี่ยง (barbed suture) เพื่อนำมาทำการร้อยไหมตกแต่งลิ้นไก่เพดานอ่อนและคอหอย (barbed uvulopalatopharyngoplasty) หรืออาจเรียกว่า Barbed UPPP

 การร้อยไหมเป็นการรักษาด้วยการเปลี่ยนรูปร่างของคอหอย โดยที่อาจไม่มีหรือมีการตัดเนื้อเยื่อเพดานหรือคอหอยออกเพียงเล็กน้อย โดยมีข้อดี คือ มีแผลเล็กกว่า เจ็บน้อยกว่า ทำได้รวดเร็วกว่า และมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม



การรักษาวิธีนี้มีหลักการคือ ใช้ไหมแบบมีเงี่ยงเย็บซ่อนภายใต้เนื้อเยื่อ เพื่อสร้างแรงดึงให้กล้ามเนื้อเพดานอ่อนและคอหอยตึงและกระชับมากขึ้น คล้ายการทำให้มีการย้อนวัยของเนื้อเยื่อคอหอย (oropharyngeal rejuvenation)

ขั้นตอนการรักษาทำในห้องผ่าตัด (ส่วนมากทำในโรงพยาบาล) โดยใช้ไหมแบบมีเงี่ยง (ชนิดคล้ายกับที่ใช้ยกกระชับใบหน้า) เย็บใต้เยื่อบุบริเวณลิ้นไก่ เพดานอ่อน และคอหอย เพื่อดึงรั้งทำให้ทางเดินหายใจบริเวณคอหอยกว้างขึ้น บางครั้งอาจทำการตัดเนื้อเยื่อที่หย่อนบริเวณลิ้นไก่และเพดานอ่อนออกเล็กน้อยบางส่วน อาจทำร่วมกับการผ่าตัดทอนซิล (tonsillectomy) ตามความเหมาะสม โดยการรักษาจะทำผ่านทางการใส่เครื่องมือทางช่องปาก (ไม่มีแผลที่เห็นได้จากภายนอก) ภายใต้การดมยาสลบ และส่วนใหญ่ใช้เวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 1-2 วัน หรืออาจกลับบ้านได้ในวันเดียวกัน

 ผลการรักษา
มีงานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่า หากวินิจฉัยและเลือกผู้ป่วยอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่รูปร่างไม่อ้วน ลิ้นไม่ใหญ่ และไม่มีขากรรไกรผิดรูป หากใช้เทคนิคที่เหมาะสม สามารถลดการนอนกรน หลับสนิทมากขึ้น ลดอาการง่วงกลางวัน และบรรเทาภาวะแทรกซ้อนของโรคหยุดหายใจขณะหลับได้                            

 การเตรียมตัวก่อนรักษา
เนื่องจากต้องทำภายใต้การดมยาสลบ ดังนั้นก่อนรักษาจึงต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ (โสต ศอ นาสิกวิทยาการนอนหลับ) อาจต้องจะใช้ผลการทดสอบการนอนหลับ (sleep test) และประเมินทางเดินหายใจส่วนบนอย่างละเอียด เพื่อหาตำแหน่ง ระดับความรุนแรง ลักษณะและส่วนประกอบของทางเดินหายใจส่วนบนที่อุดกั้นด้วยวิธีต่าง ๆ อย่างละเอียด นอกจากนี้ต้องมีการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรืออื่น ๆ เพื่อประเมินความพร้อมของสุขภาพผู้ป่วย โดยเฉพาะหากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหลายอย่าง อาจต้องเตรียมห้องพักฟื้นพิเศษ หรือต้องหยุดยาบางชนิดล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เช่น แอสไพริน ยาละลายลิ่มเลือด และอาหารเสริมบางอย่างที่อาจมีผลต่อการผ่าตัดและการดมยาสลบ ในวันผ่าตัดควรงดน้ำและอาหารก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 6-7 ชั่วโมง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรจะรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เช่น พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันไข้หวัดหรือการติดเชื้อ

 ความเสี่ยงของการรักษา
ความเสี่ยงของการรักษาพบไม่บ่อย และมักไม่รุนแรง เช่น ตึงในลำคอ กลืนไม่สะดวกในช่วงแรก หรืออาจมีเลือดออกจากแผลทางปากเล็กน้อย  ยกเว้นบางรายถ้ามีการตัดทอนซิลร่วมด้วย และเลือดออกไม่หยุดเอง อาจต้องไปทำการห้ามเลือดในห้องผ่าตัด (พบได้ร้อยละ 1-2)  และบางรายอาจมีสำลักน้ำหรืออาหารขึ้นจมูกเวลารับประทานอาหารในช่วงแรกซึ่งมักเป็นเพียงชั้วคราว กรณีที่มีอาชีพใช้เสียงมาก เช่น นักร้องหรือวิทยากร นักชิมอาหาร พ่อครัว ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยสามารถพูดได้ชัดและสื่อสารได้ตามปรกติ นอกจากนี้บางรายอาจมีแผลบริเวณเหงือก ลิ้น หรืออาจมีฟันโยก จากการใส่เครื่องมือในช่องปาก หรืออาจมีการติดเชื้อหลังผ่าตัดแต่พบได้น้อย อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เช่น อ้วนมาก เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเลือด โรคหัวใจและโรคปอด อาจมีความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนสูงขึ้น

 การดูแลรักษาหลังผ่าตัด
การดูแลขึ้นอยู่กับสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละราย ส่วนมากหลังพักฟื้นเพื่อเฝ้าสังเกตอาการไม่เกิน 1-2 วัน โดยจะได้รับยาที่จำเป็น เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ หรือยาเพื่อลดการบวมของทางเดินหายใจในช่วงแรก ผู้ป่วยควรนอนศีรษะสูง (ใช้หมอนหนุนหรือเตียงที่ปรับได้) อมน้ำแข็งบ่อย ๆ งดเล่นกีฬาที่หักโหม งดยกของหนัก หลีกเลี่ยงการขับเสมหะหรือจามแรง ๆ  และควรรับประทานอาหารเหลวหรืออ่อน และรักษาความสะอาดในช่องปาก สามารถแปรงฟันได้ กรณีมีอาการไม่ดีขึ้นหรือมีปัญหาแทรกซ้อนควรไปพบแพทย์  

 การนัดตรวจติดตามอาการ     
หลังผ่าตัดประมาณ 1-2 สัปดาห์ แพทย์จะนัดมาติดตามผลเพื่อดูอาการ ตรวจแผลและฟังผลชิ้นเนื้อ (ถ้ามีการส่งตรวจ) หลังจากนั้น 3-4  สัปดาห์ จะนัดมาเพื่อประเมินผลการรักษาและนัดห่างขึ้นเพื่อพิจารณาแนวทางการดูแลอื่น ๆ ที่เหมาะสม ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจนัดทำการทดสอบการนอนหลับอีกครั้งหลังการผ่าตัดตามความจำเป็นต่อไป

 บริการของ PHC clinic
คลินิก PHC มีทีมแพทย์ที่มีชื่อเสียง และมีประสบการณ์ในการผ่าตัดอย่างหลากหลาย พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการสามารถทำนัดหมายเพื่อพบอาจารย์ที่คลินิกของเราในเบื้องต้นได้



 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้