*อย่าพลาด* ข้อควรระวังในการเบิกจ่าย sleep test และ CPAP

549 จำนวนผู้เข้าชม  | 

*อย่าพลาด* ข้อควรระวังในการเบิกจ่าย sleep test และ CPAP

*อย่าพลาด* ข้อควรระวังในการเบิกจ่าย sleep test และ CPAP จากระบบประกันสังคมและประกันสุขภาพของภาครัฐ

1.  ข้อบ่งชี้ใช้ CPAP สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ที่รักษาด้วยวิธีอนุรักษ์แล้วไม่ได้ผล หรือ ไม่สามารถ แก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อน หรือ ผ่าตัดแล้วไม่ได้ผล

2.  ดู Apnea-hypopnea index (AHI) จาก Full polysomnography ดังนั้นหากทำการตรวจแบบแยกครึ่งคืน (split-night polysomnography) ต้องระวังว่า ผู้ป่วยอาจยังนอนไม่หลับ หรือมีระยะเวลาหลับน้อยกว่า 2 ชั่วโมง เนื่องจากสายสัญญาณเยอะรำคาญ นอนแปลกที่ และถูกปลุกก่อนเวลา อาจทำให้ค่า AHI มากหรือน้อยกว่าที่เป็นจริงในชีวิตประจำวัน  

3.  กรณีใช้ CPAP ถ้ามีค่า AHI ระหว่าง 5 - 15 ครั้งต่อชั่วโมง แต่มีโรคประจำตัว (มีระบุเพียง 3 โรคเท่านั้น) ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคหลอดเลือดสมอง (ไม่รวมโรคอื่น ๆ หรืออาการอื่น ๆ)

4.  ใบรายงานผลตรวจการนอนหลับต้องมีการลงนามโดย (ข้อใดข้อหนึ่ง)
-        แพทย์ที่ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติการนอนหลับจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ หรือกุมารแพทย์ หรือ โสต ศอ นาสิกแพทย์ หรือ จิตแพทย์แห่งประเทศไทย
-        แพทย์ที่ผ่านการสอบประกาศนียบัตรความรู้ความชำนาญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคจากการนอนหลับแห่งประเทศไทย แพทย์ที่ผ่านการสอบประกาศนียบัตรความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ประกาศนียบัตรเวชศาสตร์การนอนหลับหรือเทียบเท่า หลักสูตรอย่างน้อย 1 ปี จากสถาบันฝึกอบรม หรือ สมาคมหรือราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย

5.  ใบรับรองแพทย์โดยแพทย์สาขาที่สามารถสั่งเบิกเครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า มีดังนี้
-        อายุรแพทย์การนอนหลับ/โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ / สาขาประสาทวิทยา
-        โสต ศอ นาสิกการนอนหลับ/ โสต ศอ นาสิก และจิตแพทย์การนอนหลับ

6.  ในการเบิกเครื่อง CPAP ในครั้งที่ 2 เป็นต้นไป ให้เพิ่มทุกข้อ ต่อไปนี้
          7.1 ในกรณีเครื่องเสียซ่อมไม่ได้ โดยแนบใบยืนยันจากบริษัทและให้เปลี่ยนได้ทุก 5 ปี
          7.2 แนบเอกสารยืนยันว่า มีการใช้เครื่อง CPAP เฉลี่ยอย่างน้อย 4 ชั่วโมง/วัน เป็นระยะเวลาอย่างน้อยร้อยละ 70 ในระหว่างที่มีการใช้งานอย่างน้อย 3 เดือน

7.  การเบิกจ่ายหน้ากาก CPAP ต้องมีใบสั่งแพทย์ เหมือนตัวเครื่อง CPAP และ กรณีเบิกหน้ากากในครั้งที่ 2 เป็นต้นไป ให้เพิ่มเงื่อนไขทุกข้อ เช่นเดียวกับการเบิกเครื่อง CPAP ครั้งที่ 2 เป็นต้นไป

8.  โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เป็นโรคเรื้อรังและควรหาสาเหตุก่อน และรักษาให้ตรงกับต้นเหตุด้วย การใช้ CPAP เป็นเพียงการรักษาประคับประคอง และผู้ป่วยแต่ละรายเหมาะสมกับชนิดเครื่องและแรงดัน CPAP ที่แตกต่างกัน

9.  ค่า AHI ส่วนใหญ่กำหนดและวัดด้วยคน มีการเปลี่ยนแปลงวิธีวัดเรื่อย ๆ โดยเฉพาะภาวะหายใจแผ่ว (hypopnea)  จึงมีแนวโน้มอคติได้ง่าย ตรวจสอบได้ยาก (เป็นอัตวิสัย) และในแต่ละคืนคนเราหลับหลับลึกตื้นไม่เท่ากัน ท่านอนไม่เหมือนกัน ความเหนื่อยล้าต่างกัน ทำให้การวัด sleep test คืนเดียว ไม่อาจเป็นตัวแทนการนอนหลับทุกคืนเสมอไป

10.  การแบ่งระดับความรุนแรงของ OSA  ด้วย AHI เป็นข้อมูลเก่าที่อ้างอิงจากการศึกษาในอดีต ยังเป็นเรื่องถกเถียงเชิงวิชาการ เนื่องจากงานวิจัยปัจจุบันพบว่า AHI ที่ใช้มีความสัมพันธ์น้อยกับอาการ คุณภาพชีวิต และผลแทรกซ้อนหลายอย่าง ดังนั้นการแบ่งระดับความรุนแรงควรใช้ข้อมูลอื่น ๆ ด้วย เช่น ค่าดัชนีที่เกี่ยวกับออกซิเจนในเลือด ที่มีใน sleep test อยู่แล้ว

11.  การพิจารณาวางแผนเลือกวิธีรักษาควรใช้ข้อมูลอื่น ๆ ประกอบ เช่น โรคประจำตัว อายุ เพศ ดัชนีมวลกาย อาการง่วงผิดปกติ ระดับออกซิเจนขณะหลับ ตลอดจนความต้องการ ลักษณะเฉพาะ หรือข้อจำกัดต่าง ๆ ของผู้ป่วยแต่ละราย

12.  ไม่ใช่ทุกรายที่จำเป็นหรือเหมาะสมกับการใช้ (CPAP) ปัจจุบันมีวิธีการรักษานอนกรนและโรคหยุดหายใจขณะหลับอีกหลายอย่าง เช่น การรักษาแบบอนุรักษ์ ลดน้ำหนัก สุขอนามัยการนอน การปรับท่านอน การใช้อุปกรณ์ในช่องปาก การผ่าตัดทางเดินหายใจส่วนบน การใช้คลื่นวิทยุ การใช้เลเซอร์ ยาพ่นจมูก เครื่องกระตุ้นประสาท การฝึกกล้ามเนื้อ และอื่น ๆ

13.  ผลการรักษาด้วยเครื่อง CPAP ขึ้นอยู่กับอัตราการใช้อย่างมาก ดังนั้นจึงควรใช้ให้มากที่สุดทุกคืนและทั้งคืนอย่างต่อเนื่องตลอด หรืออย่างน้อยที่สุด ค่าเฉลี่ยในการใช้ (นับทุกวัน รวมวันที่ไม่ใช้) ต้องเกิน 4 ชั่วโมงต่อคืน ทั้งนี้ ยะเวลาใช้ 4 ชั่วโมงต่อคืน (จากนอน 7-8 ชั่วโมง) ยังคิดเป็นเทียบเท่าอัตราการใช้ประมาณร้อยละ 50 เท่านั้น และหากใช้น้อยกว่านี้ จะไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร ดังนั้นผู้ป่วยควรใช้เครื่องให้มากที่สุด หรือพิจารณาการรักษาอย่างอื่นทดแทนหรือควบคู่กันไป

14.  ผู้ป่วยบางรายควรต้องระวังเป็นพิเศษถึงผลแทรกซ้อนจากการใช้ CPAP เช่น ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง คนอ้วนมาก โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคสมองและระบบประสาท กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยหลังผ่าตัด ไซนัสอักเสบ หรืออื่น ๆ

15.  การใช้เครื่อง CPAP อาจเกิดผลข้างเคียงหลายอย่าง เช่น จมูกแห้ง ปากและคอแห้ง คัดจมูก เลือดกำเดาไหล ไซนัสอักเสบ ผื่นแพ้บริเวณผิวสัมผัสหน้ากาก เยื่อบุตาอักเสบจากลมรั่วเข้าตา หูอื้อ ท้องอืดจากลมที่มากเกินไป ลมรั่วจากหน้ากาก ลมรั่วออกทางปาก ปวดมึนศีรษะ ความดันลูกตาเพิ่มขึ้น การคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ ระดับออกซิเจนในเลือดยังไม่เพียงพอ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากส่วนกลางที่เกิดจากการรักษา การติดเชื้อในระบบหายใจ หรืออาจมีสารก่อมะเร็ง

16.  เครื่อง CPAP แต่ละยี่ห้อ มีระบบการทำงานแตกต่างกัน ทำให้ค่าที่บันทึกได้และให้แรงดันเฉลี่ยไม่เท่ากัน

 



 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้