INAP therapy ... วิธีใหม่ในการรักษานอนกรน

2715 จำนวนผู้เข้าชม  | 

INAP therapy ... วิธีใหม่ในการรักษานอนกรน

รองศาสตราจารย์นายแพทย์วิชญ์  บรรณหิรัญ
American Board of Sleep Medicine,
Certified International Sleep Specialist

  ปัจจุบันการรักษาวิธีหนึ่งที่เรียกว่า INAP ซึ่งย่อมาจาก Intraoral Negative Airway Pressure therapy เริ่มเป็นที่รู้จักและนำมาใช้รักษานอนกรน และโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea, OSA) โดยเฉพาะในต่างประเทศ และขณะนี้เริ่มมีใช้ในไทยแล้ว
 
  ข้อดีของ INAP therapy คือ ผู้ที่ใช้เครื่องไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากครอบใบหน้า  ทำให้ใบหน้าไม่ต้องมีริ้วรอยเหมือนในคนใช้ CPAP นอกจาก INAP มีน้ำหนักเบาและสะดวกในการพกพามากกว่า CPAP แล้ว iNAP ยังใช้แบตเตอรี่มีอายุใช้งานได้ถึง 1 สัปดาห์ ทำให้ไม่ต้องมีการเสียบปลั๊กขณะใช้งา และสะดวกในการขยับตัวไปมาขณะหลับดีมากกว่า


  หลักการของ INAP therapy คือ จะมีการใช้เครื่องมือทำหน้าที่สร้างแรงดันลบในช่องปาก คล้ายสุญญากาศ จะดูดบริเวณเพดานอ่อนและโคนลิ้นมาด้านหน้ามากขึ้น ป้องกันลิ้นและเพดานอ่อนหย่อนตกไปอุดกั้น และลดการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าว โดยขณะนอนหลับให้ผู้ป่วยใส่ชิ้นส่วนของอุปกรณ์อมในปาก (เป็นวัสดุพลาสติกทางการแพทย์ที่ปลอดภัย) ทำให้เสียงกรนลดลงและการหยุดหายใจน้อยลง
 
  อย่างไรก็ตามทุกการรักษาย่อมมีข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัด เนื่องจากสาเหตุของการนอนกรนหรือโรคหยุดหายใจขณะหลับมีอีกหลายอย่าง เช่น เยื่อบุจมูกอักเสบเรื้อรัง ภูมิแพ้ จมูกคด ริดสีดวงจมูก น้ำหนักตัวมากหรืออ้วน คางสั้น ลิ้นไก่ยาว ทอนซิลโต เนื้องอกในทางเดินหายใจส่วนบน กล้ามเนื้อหย่อนผิดปกติ และอื่น ๆ ดังนั้นก่อนการรักษาจึงควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ (sleep specialist) หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น โสต ศอ นาสิกแพทย์  เพื่อประเมินหาสาเหตุก่อน ด้วยการซักประวัติที่เกี่ยวข้องรวมถึงโรคประจำตัว ตรวจร่างกายตามระบบ และตรวจทางเดินหายใจอย่างละเอียด โดยแพทย์อาจพิจารณาแนะนำให้ทำการทดสอบการนอนหลับ (sleep test) ส่องกล้อง หรือฟิล์มเอกซเรย์ตามความเหมาะสม

  ทั้งนี้แนวทางการรักษานอนกรนและโรคหยุดหายใจขณะหลับ ปัจจุบันนิยมใช้การรักษาแบบเฉพาะบุคคล (personalized therapy) เนื่องจากมีการคำนึงถึงและเคารพความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมที่สุด โดยการเลือกวิธีรักษา พิจารณาจากผลตรวจ sleep test มาใช้ช่วยประเมิน ชนิด ลักษณะ ความรุนแรง และความเสี่ยง ของโรค ร่วมกับลักษณะของผู้ป่วย เช่น อายุ เพศ โรคประจำตัว ดัชนีมวลกาย อาการความง่วงผิดปกติ ฯลฯ

  ก่อนรักษาผู้ป่วยควรทราบถึงข้อดี ข้อเสียของแต่ละวิธี เพื่อตัดสินใจร่วมกัน (participation) นอกจากนี้ผู้ป่วยควรทราบถึงทางเลือกในการรักษานอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับอื่น ๆ อีกหลายแบบ โดยอาจใช้การรักษาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือใช้ร่วมกัน ดังนั้นก่อนตัดสินใจรักษาด้วยวิธี INAP ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ (sleep specialist) ก่อน เพื่อให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและเหมาะสมต่อไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้