เปรียบเทียบ Sleep test ควรตรวจแบบไหนดี ???

2550 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เปรียบเทียบ Sleep test ควรตรวจแบบไหนดี ???

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ วิชญ์ บรรณหิรัญ
American Board of Sleep Medicine,
Certified international sleep specialist
 
   การทดสอบการนอนหลับ (sleep test) เป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องใช้เพื่อ วิเคราะห์การทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกายขณะนอนหลับ เช่น ระบบการหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือด การทำงานของสมอง หัวใจ กล้ามเนื้อ และใช้สังเกตพฤติกรรมบางอย่างที่เกิดขึ้นขณะหลับ มีประโยชน์ใช้ในการวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea หรือ OSA) รวมถึงโรคจากการหลับอื่น ๆ ซึ่งจะนำมาช่วยวางแผนและตัดสินใจทางเลือกในการรักษาโรคต่าง ๆ  อีกทั้งสามารถใช้ติดตามผลหลังได้รับการรักษาได้

    เมื่อไหร่จึงควรรับการตรวจ sleep test
        ผู้ที่ควรได้รับการตรวจ sleep test ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหานอนกรนดังผิดปรกติ หรือมีอาการนอนหลับไม่สนิท หายใจลำบาก สำลักสะดุ้งตื่น รู้สึกเหมือนคนจมน้ำ  ตื่นบ่อย หรือมีคนรอบข้างสังเกตเห็นการหยุดหายใจขณะหลับ ผู้ที่มีอาการง่วงนอนกลางวัน หรืออ่อนเพลียเหมือนหลับไม่เต็มอิ่ม ตลอดจนผู้ที่มีพฤติกรรมการนอนผิดปรกติอื่น ๆ  เช่น แขนขากระตุก  นอนกัดฟัน นอนละเมอ ฝันร้าย รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรืออ้วน น้ำหนักตัวมากผิดปกติ มีโรคซึมเศร้า สมรรถภาพทางเพศเสื่อม นอกจากนี้ในเด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการ เติบโตช้า การเรียนไม่ดีเท่าที่ควร หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าว สมาธิสั้น หรืออื่น ๆ ควรเข้ารับการตรวจโดย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคจากการหลับซึ่งได้รับการรับรองจากแพทยสภา (certified sleep specialist) เพื่อวางแผนในการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่เชื่อถือได้ มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

   การตรวจ sleep test แต่ละประเภทต่างกันอย่างไร  
เนื่องจากปัจจุบัน การทดสอบการนอนหลับ หรือ sleep test (บางครั้งเรียกว่า sleep study หรือ polysomnography) แบ่งออกได้เป็นหลายประเภท (อ่านบทความอื่นของผู้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้เพิ่มเติม) ดังนั้นจึงควรทราบว่า การตรวจแต่ละประเภท มีข้อดี ข้อเสีย และมีประโยชน์แตกต่างกันอย่างไร เพื่อเปรียบเทียบกันให้เข้าใจ ดังตารางดังนี้



   ควรตรวจ sleep test ประเภทใด
      ในการเลือกประเภทของการตรวจ sleep test ควรมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการหลับที่ได้รับอนุมัติบัตรหรือวุฒิบัตรจากแพทยสภาเป็นผู้ดูแลและแปลผล เช่น ประเภทที่ 1 หรือ 2 และบางกรณีเป็นประเภทที่ 3 โดยแต่ละประเภทควรได้รับการตรวจโดยเจ้าหน้าที่เทคนิคที่ได้รับประกาศนียบัตรจากสมาคมที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ทั้งนี้ผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ หัวใจล้มเหลว โรคลมชัก โรคหลอดเลือดสมอง หรือผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น เด็กอายุน้อยกว่า 8 ปี สามารถตรวจที่บ้านผู้ป่วยเองหรือสถานที่ที่ปลอดภัยได้ อย่างไรก็ตามหากสุขภาพไม่แข็งแรง หรือมีโรคประจำตัวหลายอย่าง ควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาเลือกประเภทการตรวจเป็นราย ๆ ในกรณีผู้ป่วยนอนไม่หลับ อาจพิจารณารับประทานยาช่วยนอนหลับที่แพทย์แนะนำและสั่งให้ และในใบรายงานแปลผลควรผ่านการรับรองโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการหลับที่ได้รับอนุมัติบัตรหรือวุฒิบัตรจากแพทยสภา เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นผลตรวจที่เชื่อถือได้ และมีความปลอดภัยในการนำไปใช้เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

   ควรตรวจ sleep test ซ้ำหรือไม่ และเมื่อไหร่
มากกว่าร้อยละ 95 ของผู้ป่วย สามารถมีเวลาหลับมากพอ และสามารถได้ผลตรวจ sleep test ที่ใช้ได้ อย่างไรก็ตามอาจพิจารณาทำ sleep test ซ้ำในบางกรณี ได้แก่ มีความผิดพลาดทางเทคนิค เช่น สายหลุด สัญญาณขาดหาย ตรวจไม่ได้ หรือเจ้าหน้าที่ติดอุปกรณ์ผิดพลาด ไม่สามารถรายงานผลได้ หรือผลตรวจ sleep test ที่ได้และอาการไม่สอดคล้องกัน นอกจากนี้อาจทำซ้ำในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษามาแล้ว และต้องการติดตามผล เช่น หลังผ่าตัด หลังใช้อุปกรณ์ หรือสามารถลดน้ำหนักได้มาก รวมถึงกรณีที่อาการของโรคเปลี่ยนแปลงในทางที่แย่ลงทั้งก่อน ระหว่าง หรือหลังการรักษา หรือมีอาการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อาจพิจารณาตรวจซ้ำตามความจำเป็นได้เช่นกัน   

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้