เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก

  เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (PAP หรือ CPAP) คืออะไร
คำว่า PAP ย่อมาจาก  positive airway pressure  (คนทั่วไปนิยมเรียกว่า CPAP “ซีแพ็บ”  หรือ continuous positive airway pressure) เป็นการรักษาที่ได้ผลดีมากวิธีหนึ่งในการรักษานอนกรน และ โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea หรือ OSA) โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการรุนแรงและง่วงกลางวันมากผิดปกติ โดย PAP หรือ CPAP มีหลักการทำงาน คือ การใช้แรงดันลม (ใช้อากาศปกติในห้อง ไม่ได้มีออกซิเจนเสริม ยกเว้นกรณีจำเป็น) เพื่อเป่าทางจมูก (และหรือปาก) ผ่านคอหอยและโคนลิ้นผ่านไปยังกล่องเสียงก่อนลงปอด โดยแรงดันลมดังกล่าวจะช่วยถ่างขยายทางเดินหายใจส่วนบนไม่ให้มีการอุดกั้นจากการหย่อนตัวขณะหลับ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยหายใจได้อย่างเพียงพอและนอนหลับราบรื่นตลอดคืน

ประเภทของ PAP หรือ CPAP



1. PAP แบบตั้งแรงดันลมคงที่ (fixed CPAP) หรือ manual CPAP เครื่องประเภทนี้จะทำงานโดยอัดอากาศตามค่าแรงดันลมที่เหมาะสมและตั้งค่าไว้คงที่โดยแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ (สามารถทำได้หลายวิธี) เครื่องประเภทนี้มักมีราคาประหยัดกว่าประเภทอื่น แต่ต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญปรับแรงดันลมให้เป็นระยะตามความจำเป็น
 
2. PAP แบบปรับแรงดันอัตโนมัติ (auto-titrating PAP หรือ APAP) หรือ auto-PAP เครื่องประเภทนี้จะปรับค่าแรงดันลมได้อัตโนมัติในช่วงที่กำหนดไว้ โดยแพทย์ต้องตรวจวินิจฉัยและตั้งค่าต่าง ๆ ของเครื่องให้ทำงานตามโปรแกรม (ผู้ป่วยไม่ควรตั้งค่าเองเพื่อความปลอดภัย) ทั้งนี้ผู้ใช้เครื่องประเภทนี้อาจรู้สึกสะดวกสบายขึ้น แต่มักมีราคาสูงขึ้นตาม
 
3. PAP แบบตั้งแรงดันลม 2 ระดับ (bi-level PAP หรือ BPAP) เครื่องประเภทนี้จะต้องหาค่าแรงดันลมที่เหมาะสมโดยแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ และตั้งค่าไว้ 2 ระดับ คือ แรงดันขณะหายใจเข้าและแรงดันขณะหายใจออก ซึ่งผู้ป่วยที่ใช้ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์เพื่อความปลอดภัย ปัจจุบันเครื่องประเภทนี้มีใช้ในผู้ป่วยเพียงบางโรค
 
  วิธีการใช้เครื่อง PAP หรือ CPAP
ก่อนการรักษาด้วย PAP หรือ CPAP ผู้ป่วยต้องได้รับการทดสอบการนอนหลับ (sleep test) เพื่อวินิจฉัยและตั้งค่าต่าง ๆ ของเครื่องโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการหลับที่ได้รับอนุมัติบัตรหรือวุฒิบัตรจากแพทยสภา (board certified sleep specialist) เพื่อความปลอดภัยจากการรักษา เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนต้องการแรงดันเพื่อการขยายทางเดินหายใจและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการนอนหลับไม่เท่ากัน (เครื่องอัตโนมัติ หรือ APAP ก็จำเป็นต้องตั้งค่าต่าง ๆ ที่เหมาะสมให้เครื่องทำงานก่อน ซึ่งแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน) นอกจากนี้ในการใช้งานจริงผู้ป่วยควรทดลองเลือกสวมหน้ากากที่เหมาะสมกับลักษณะใบหน้าของตนเอง ทั้งนี้ส่วนใหญ่แนะนำให้เริ่มทดลองใช้หน้ากากที่ครอบจมูก (nasal mask) หรือหน้ากากแบบสอดจมูก (nasal pillow) ก่อน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจเหมาะกับการใช้หน้ากากแบบครอบทั้งจมูกและปาก (oronasal mask) หรือแบบเต็มหน้า (full face mask) ซึ่งกรณีนี้ท่านควรปรึกษาแพทย์

  การใช้เครื่อง PAP หรือ CPAP จะใช้เฉพาะเวลาที่นอนหลับและควรใช้ตลอดทั้งคืนและทุกคืนเท่าที่จะทำได้ (หรือบางครั้งใช้เวลานอนกลางวันด้วยถ้าจำเป็น) จนกว่าจะได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุหรือมีวิธีการรักษาอื่น ๆ ที่แพทย์แนะนำ สำหรับขั้นตอนการใช้เครื่องสามารถทำได้โดยง่าย เช่น สวมหน้ากาก เปิดเครื่อง เช็คระดับแรงดันลม ส่วนรายละเอียดทางเทคนิค เช่น การทำความสะอาด การปรับหน้ากาก การดูแลรักษาเครื่อง หรือการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์บางอย่างที่เสื่อมสภาพตามเวลา จะมีเจ้าหน้าที่เฉพาะช่วยให้คำแนะนำ หลังใช้ควรนำผลการใช้เครื่องมาติดตามดูแลรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นระยะ ๆ ทั้งนี้ผู้ป่วยไม่ควรซื้อเครื่อง มาใช้เองโดยไม่ได้รับการตรวจ sleep test หรือไม่ได้พบแพทย์ เนื่องจากหากตั้งค่าและดูแลไม่เหมาะสมจะเกิดผลแทรกซ้อนที่อันตรายได้
 
  ข้อดีและข้อเสียของการใช้ PAP หรือ CPAP
การรักษาด้วย PAP หรือ CPAP เป็นการรักษานอนกรนและโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น หรือ OSA ที่ได้ผลดีและปลอดภัยหากใช้ตามข้อบ่งชี้และใช้ได้อย่างถูกวิธีภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการหลับ โดยการใช้เครื่องอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอจะทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีการนอนหลับดีขึ้น ตื่นขึ้นมาสดชื่นขึ้น และง่วงหรืออ่อนเพลียเวลากลางวันลดลง เนื่องจากจะได้รับอากาศและได้พักผ่อนดีขึ้น นอกจากนี้ในระยะยาวอาจช่วยลดความเสี่ยงจากโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ จากโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นได้ อย่างไรก็ตาม PAP หรือ CPAP อาจมีผลข้างเคียง เช่น หากใส่หน้ากากที่ไม่พอดีหรือใช้แรงดันลมไม่พอดีจะทำให้รู้สึกอึดอัดรำคาญและนอนหลับไม่สนิท มีความไม่สะดวกในการเดินทาง             บางครั้งตื่นนอนแล้วรู้สึกปากคอแห้ง คัดจมูก น้ำมูกไหล และบางรายอาจมีเลือดกำเดาไหล มีรอยหรือผื่นที่ใบหน้า มีลมแน่นท้อง หรืออื่น ๆ ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยประเมินและดูแลรักษาได้ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ ร่วมด้วย หากไม่ได้รับการดูแลจากแพทย์อาจมีความเสี่ยงจากการตั้งค่าแรงดันผิดพลาดและทำให้ภาวะของการหยุดหายใจขณะหลับแย่ลงได้
 
  บริการของ PHC clinic
คลินิก PHC มีความพร้อมในการให้บริการเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมและปลอดภัย โดยมีอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์ในการรักษาที่หลากหลาย พร้อมสำหรับให้คำปรึกษาและรักษาด้วยเครื่อง PAP หรือ CPAP ประเภทต่าง ๆ ผู้ป่วยสามารถทำนัดหมายเพื่อพบอาจารย์ที่คลินิกของเราในเบื้องต้นได้ เพื่อตรวจวินิจฉัยและประเมินว่า แต่ละรายเหมาะสมกับการรักษาด้วย PAP หรือ CPAP หรือไม่ ควรใช้เครื่องประเภทใด ตั้งค่าแรงดันลมอย่างไร ใช้หน้ากากและอุปกรณ์เสริมอย่างไร นอกจากนี้คลินิกยังมีทีมเจ้าหน้าเทคนิคในการให้คำแนะนำสอนวิธีการใช้ การดูแลรักษาและทำความสะอาดเครื่องมือ รวมถึงมีบริการให้ผู้ป่วยทดลองยืมเครื่อง PAP หรือ CPAP ไปใช้ที่บ้าน อีกทั้งยังมีเครื่องมือรวมถึงอุปกรณ์เสริมหลากหลายรุ่นหลายยี่ห้อ สำหรับจำหน่ายพร้อมมีรับประกัน โดยเมื่อมาติดตามผลการรักษา คลินิกของเราจะมีบริการดาวน์โหลดผลการใช้เครื่อง การอบฆ่าเชื้อ ซ่อมเครื่องมือเบื้องต้น มีหน้ากาก ไส้กรอง เครื่องทำความชื้น และอื่น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจว่า จะได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยในระยะยาวต่อไป
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้