การใช้ยาหรือทางเลือกอื่น

  การรักษาด้วยยาหรือทางเลือกอื่นในการรักษานอนกรน และโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea หรือ OSA) อาจใช้ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ส่วนใหญ่ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถใช้การรักษาหลัก เช่น CPAP อุปกรณ์ในช่องปาก การใช้คลื่นความถี่วิทยุ และการผ่าตัดทางเดินหายใจส่วนบน ปัจจุบันมีการรักษาที่ใช้ยาหรือทางเลือกอื่น ที่พอมีหลักฐานทางการแพทย์รับรอง ได้แก่

1. ยารักษาโรคจมูก เนื่องจากผู้ป่วยนอนกรนและ OSA อาจมีอาการคัดจมูก และพบโรคจมูกอักเสบเรื้อรังหรือภูมิแพ้ร่วมกันบ่อย ดังนั้นการใช้ยารักษาโรคเหล่านี้จึงมีส่วนช่วยให้นอนกรนและ OSA ดีขึ้นในทางตรงและทางอ้อมไม่มากก็น้อย โดยมีรายงานการวิจัยว่า การใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกสามารถช่วยลดอาการคัดจมูก นอนกรนและความง่วงในเวลากลางวันได้ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น และอาจช่วยให้ผู้ป่วยหลายรายสามารถใช้ PAP ได้ดีขึ้น สำหรับในเด็กการใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกร่วมกับยารับประทานแก้ภูมิแพ้อาจช่วยให้อะดีนอยด์มีขนาดเล็กลงและอาการดีขึ้ได้ และบางรายอาจพิจารณาใช้ยาที่มีฤทธิ์หดหลอดเลือดแบบใช้เฉพาะที่ ซึ่งยานี้จะออกฤทธิ์ได้เร็วและมีประสิทธิภาพในการลดอาการคัดจมูกดีมาก แต่ต้องใช้เพียงชั่วคราวหรือระยะสั้น (ไม่ควรใช้ติดต่อกันโดยไม่หยุดเกิน 1 สัปดาห์) เพื่อไม่ให้ดื้อยาหรือมีอาการแย่ลงภายหลัง ทั้งนี้การใช้ยาที่มีฤทธิ์หดหลอดเลือดจะช่วยทำนายการตอบสนองของการจี้ความถี่วิทยุหรือการผ่าตัดจมูกได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินก่อนเสมอ ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงจากยาได้

2. ยากระตุ้นระบบประสาท  มีที่ใช้ประโยชน์ในผู้ป่วย OSA ที่ยังมีความง่วงเหลืออยู่มากแม้ว่าจะได้รับการรักษาด้วยทางหลักมาแล้ว โดยที่ตรวจไม่พบสาเหตุจากความผิดปกติทางด้านอื่น ตัวอย่างเช่น ยากลุ่ม amphetamine หรือ modafinil  อย่างไรก็ตามยาดังกล่าวอาจพบผลข้างเคียงได้หลายอย่าง จึงควรใช้ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ

3. ยากระตุ้นการหายใจ มีฤทธิ์เพิ่มการหายใจโดยผ่านการกระตุ้นให้เกิดกรดจากการเผาผลาญ เช่น ยา acetazolamide อาจใช้ในผู้ป่วยที่มีโรคหยุดหายใจบางรายที่มีลักษณะเฉพาะ อย่างไรก็ตามอย่างไรก็ตามยาดังกล่าวอาจพบผลข้างเคียงได้หลายอย่าง จึงควรใช้ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ

4. การใช้อุปกรณ์ช่วยปรับท่านอน  (positional therapy) การรักษาวิธีนี้อาจใช้เป็นการรักษาเสริมในผู้ป่วยที่ปฏิเสธการรักษาหลักในผู้ป่วยที่นอนกรนหรือเป็น OSA ชนิดที่สัมพันธ์กับท่านอนหงาย ปัจจุบันมีการพัฒนาอุปกรณ์หลายประเภท อย่างไรก็ตามผลการรักษาระยะยาวยังไม่แน่นอน ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์และควรได้รับการทดสอบการนอนหลับ (sleep test) ก่อนว่าเป็น OSA ชนิดใดก่อนรักษา ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาโรคที่ไม่ถูกต้อง

5. การรักษาด้วยการฝึกกล้ามเนื้อ (myofunctional therapy) หรือการออกกำลังกายกล้ามเนื้อบริเวณคอหอย (oropharyngeal muscle exercise) มีจุดประสงค์เพื่อ ทำให้กล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนแข็งแรงและมีคงตัวอยู่ได้ขณะหลับ ลดอาการนอนกรนและ OSA บางรายอาจช่วยให้การหายใจทางจมูกดีขึ้น และนอกจากนี้อาจช่วยทำให้ขากรรไกรล่างและรูปหน้าดีขึ้น วิธีนี้สามารถทำได้หลายแบบทั้งมีอุปกรณ์หรือไม่ใช้อุปกรณ์ร่วมด้วย อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานการวิจัยรับรองผลในระยะยาว ไม่มีข้อมูลในคนไทย และยังไม่มีรูปแบบได้รับการยอมรับว่าเป็นมาตรฐาน ก่อนทำการรักษาด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยจึงต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับและได้รับการทำ sleep test เพื่อความปลอดภัยจากการรักษาโรคที่ไม่ถูกต้อง    

6. การรักษาด้วยเครื่องสร้างแรงดันลบในช่องปาก (oral pressure therapy) มีลักษณะเป็นการใส่เครื่องมือในปาก ซึ่งจะมีท่อต่อไปยังเครื่องสร้างแรงดันลบ (แรงดูด) ซึ่งจะช่วยให้ลิ้น เพดานอ่อน และลิ้นไก่ ถูกดึงไปทางด้านหน้าในขณะที่หุบปากขณะนอนหลับ ส่งผลให้ทางเดินหายใจส่วนบนกว้างขึ้น อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานการวิจัยรับรองผลในระยะยาว ไม่มีข้อมูลในคนไทย และอาจมีผลข้างเคียงจากการรักษา ก่อนทำการรักษาด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยจึงต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับและได้รับการทำ sleep test เพื่อความปลอดภัยจากการรักษาโรคที่ไม่ถูกต้อง    

7. การให้ออกซิเจนเสริม (oxygen supplementation) อาจพิจารณาให้อย่างระมัดระวัง  เพื่อเป็นการรักษาเสริมในผู้ป่วยที่ใช้ CPAP ในระดับแรงดันที่เพียงพอแล้ว ยังมีออกซิเจนในเลือดต่ำเกินไปน้อย เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือโรคอื่น ๆ อย่างไรก็ตามวิธีนี้อาจทำให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการแย่ลง ดังนั้นก่อนรักษาด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยจึงต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับและได้รับการทำ sleep test เพื่อความปลอดภัยจากการรักษาโรคที่ไม่ถูกต้อง    

8. การฝังเข็ม (acupuncture) เป็นการรักษาที่อยู่ในกลุ่มการแพทย์ทางเลือกผสมผสาน มีรายงานผลการศึกษาในต่างประเทศ อย่างไรก็ตามวิธีนี้ยังไม่ทราบกลไกรักษาที่แน่ชัด ไม่มีข้อมูลในคนไทย และยังไม่มีรายงานผลวิจัยในระยะยาว

  บริการของ PHC clinic
คลินิก PHC มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิกวิทยาการนอนหลับ ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์ในการรักษาด้วยยาและทางเลือกอื่นอย่างหลากหลาย พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการรักษาดังกล่าวข้างต้น ผู้ป่วยสามารถทำนัดหมายเพื่อพบอาจารย์ที่คลินิกของเราในเบื้องต้นได้ เพื่อตรวจวินิจฉัยและประเมินว่า ผู้ป่วยแต่ละรายเหมาะสมกับการรักษาเหล่านี้หรือไม่ ก่อนพิจารณาให้การรักษาที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้