รศ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ, RPSGT
American Board of Sleep Medicine
Certified international sleep specialist
การที่มีผนังกั้นช่องจมูกคด (deviated nasal septum) อาจจะทำให้มีอาการคัดจมูกข้างใดข้างหนึ่ง มากกว่าอีกข้างหนึ่ง หรือคัดจมูกสลับกัน 2 ข้างก็ได้ นอกจากนั้นอาจเป็นสาเหตุของการปวดในโพรงจมูก, ไซนัสอักเสบเรื้อรัง, โรคริดสีดวงจมูก, โรคของหูชั้นกลาง เลือดกำเดาไหล และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นอนกรนและเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้นได้ (obstructive sleep apnea, OSA)

การผ่าตัดแก้ไขภาวะดังกล่าว ทำโดยการผ่าตัดผ่านช่องจมูก และเย็บด้วยไหมละลายได้เองอยู่ข้างในจมูก จึงไม่มีแผลหรือรอยผ่าตัดให้เห็นภายนอก ยก เว้นในรายที่ผนังกั้นช่องจมูกคดนั้นอยู่บริเวณด้านหน้ามาก อาจมีแผลเล็กๆที่ผิวหนังบริเวณผนังกั้นช่องจมูกทางด้านหน้าส่วนล่างซึ่งเล็ก และแทบมองไม่เห็น การผ่าตัดนี้อาจทำร่วมกับการจี้เยื่อบุจมูกด้วยคลื่นความถี่วิทยุ และการผ่าตัดไซนัสหรือริดสีดวงจมูกได้ ซึ่งอาจทำภายใต้การใช้ยาชาเฉพาะที่ หรือวิธีดมยาสลบ
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
ผู้ป่วยควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เช่น พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันไข้หวัดหรือการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจซึ่งอาจทำให้ต้อง เลื่อนการผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยบางรายที่รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน หรือ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ต้องหยุดยาก่อนผ่าตัดหลายวัน ทั้งนี้ต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินความพร้อมของผู้ป่วยสำหรับการผ่าตัด ซึ่งอาจต้องตรวจเลือด ภาพถ่ายรังสี หรือคลื่นหัวใจแล้วแต่ความจำเป็น นอกจากนี้ก่อนผ่าตัดแพทย์จะให้งดน้ำและอาหารล่วงหน้าอย่างน้อย 6 ชั่วโมงเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ และ ผู้ป่วยจะได้รับการตัดขนจมูกบริเวณที่จะผ่าตัด
ความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน ที่อาจเกิดจากการผ่าตัด โดยทั่วไปมักไม่รุนแรงและพบน้อย ได้แก่ บริเวณที่ผ่าตัดติดเชื้อ, เลือดออก, เกิดรูทะลุของผนังกั้นช่องจมูก ซึ่งมองไม่เห็นจากภายนอก, การมีดั้งจมูกยุบซึ่งพบได้น้อยมาก, นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีน้ำมูกแห้ง ๆ หรือมีเลือดกำเดาออกเป็นครั้งคราว
การปฏิบัติตนและสิ่งที่ควรทราบหลังผ่าตัด
- หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับยาต้านจุลชีพ, ยาแก้ปวด, ยาหยอดจมูกเพื่อห้ามเลือด, ยาลดอาการคัน จาม น้ำมูกไหล และจะมีสายให้น้ำเกลืออยู่ที่แขนซึ่งจะเอาออกเมื่อผู้ป่วยรับประทานได้ดี โดยทั่วไป ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะกลับบ้านได้ หลังผ่าตัด 3-4 วัน
- ผู้ป่วยจะมีวัสดุที่ใช้ในการห้ามเลือดอยู่ในโพรงจมูกทั้งสองข้างประมาณ 48 ชม. หลังผ่าตัดเสร็จ จึงต้องหายใจทางปากร่วมด้วยจนกว่าแพทย์จะเอาวัสดุห้ามเลือดออก ใน ช่วงหลังผ่าตัดเสร็จใหม่ ๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บจมูกจากแผลผ่าตัดหรืออาจมีเลือดปนน้ำมูกหรือน้ำลายได้ บ้าง และอาจมีอาการคัดจมูกอยู่คล้ายเป็นไข้หวัดซึ่งอาการดังกล่าวมักจะหายไปเอง ภายใน1สัปดาห์
- หลังกลับบ้านผู้ป่วยควรล้างจมูกเพื่อทำความสะอาดช่องจมูกด้วยตนเองโดยใช้น้ำเกลืออุ่นอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ซึ่งโดยทั่วไปจะเริ่มที่ ประมาณ 2 วัน หลังจากที่แพทย์เอาวัสดุห้ามเลือดออกแล้ว
- แพทย์จะให้ผู้ป่วยหยุดพักฟื้นต่อที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ ระหว่างนี้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรงๆ , การแคะจมูกหรือการกระทบกระเทือนบริเวณจมูก, การออกแรงมาก, การเล่นกีฬาที่หักโหม รวมถึงยกของหนักหลังผ่าตัด เพราะอาจทำให้มีเลือดออกจากแผลได้ ถ้ามีเลือดออกจากจมูกหรือไหลลงคอ ควรนอนพัก ยกศีรษะสูง หยอดยาหยอดจมูกเพื่อห้ามเลือดที่แพทย์สั่งไว้ให้ แต่ ถ้าเลือดออกไม่หยุดหรือออกมากผิดปกติควรมาโรงพยาบาล
การนัดตรวจเพื่อติดตามผลการรักษา
แพทย์จะนัดมาดูอาการ และดูแผลผ่าตัดและทำความสะอาดในโพรงจมูกผ่านทางการส่องกล้อง ประมาณสัปดาห์แรก หลังจากนั้นอาจนัดมาอีก 1 เดือน หรือทุก 3-6 เดือน จนกว่าจะหายดี