นอนกรน แก้ได้ ถ้าเข้าใจ แล้วเราจะไม่นอนกรนอีกต่อไป

7668 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นอนหลับ

รศ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ, RPSGT
American Board of Sleep Medicine
Certified international sleep specialist
ผู้เชี่ยวชาญด้าน การรักษา นอนกรน

นอนกรน เป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก เกิดขึ้นได้ทุกเพศและทุกวัย เสียงกรนเป็นอาการแสดงของการสั่นสะเทือนเนื้อเยื่อที่บ่งบอกว่า กำลังมีการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งอาจเป็นจมูก คอหอย โคนลิ้น หรือส่วนของกล่องเสียง ซึ่งมีการหย่อนตัวลงเกิดขึ้นในขณะนอนหลับ

นอนกรน มีหลายชนิดและมีหลายระดับความรุนแรง นอกจากจะสร้างความรำคาญจนอาจเป็นปัญหาทางครอบครัวหรือสังคม หรือเสียบุคลิกแล้ว นอนกรนอาจเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งของ โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea หรือ OSA) ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพหลายอย่าง เช่น  อุบัติเหตุจากความง่วงนอน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด อัมพฤกษ์ ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ นอกจากนี้ในเด็กอาจทำให้มีผลเสียต่อพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกายและสติปัญญา อาจทำให้ผลการเรียนแย่ลง มีพฤติกรรมก้าวร้าว สมาธิสั้น ปัสสาวะรดที่นอน หรือมีปัญหาต่อคนรอบข้างได้ 

สาเหตุของการนอนกรน

นอนกรน อาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่
1.    ปัจจัยทางกายภาพ ได้แก่ โครงสร้างอวัยวะหรือเนื้อเยื่อทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบ ตั้งแต่จมูก คอหอย โคนลิ้น หรือกล่องเสียง ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติต่าง ๆ เช่น กะโหลกศีรษะและใบหน้าผิดรูป คางเล็ก คางสั้น ผนังจมูกคด จมูกบวม คัดจมูก ต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์โต ลิ้นไก่ยาว ลิ้นโต หรือบางคนอาจไม่พบความผิดปกติที่ชัดเจน แต่เกิดจากเนื้อเยื่อไขมันมาก เช่น ในคนอ้วนมักไขมันกระจายอยู่ในคอหอย ลิ้น และเพดานอ่อนมากขึ้น ทำให้ทางเดินหายใจถูกเบียดให้แคบลง

2.    ปัจจัยทางสรีรวิทยา มีหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
2.1    กล้ามเนื้อลิ้นหย่อน และตกลงไปคอหอยด้านหลังอุดกั้นทางหายใจขณะหลับ
2.2    การทำงานของระบบหายใจไม่เสถียร ไม่สมดุลกับออกซิเจนในเลือด ทำให้หยุดหายใจหรือหายใจติดขัด
2.3   สมองตื่นตัวง่าย เวลามีเสียงกรนหรือหายใจติดขัดเล็กน้อยจะหลับตื้นขึ้น ทำให้หลับไม่สนิทและง่วงในวันต่อมา
 
3.    ปัจจัยอื่น ๆ เช่น อายุมากขึ้นอาจเป็นมากขึ้น เพศชายมักเป็นรุนแรงกว่าเพศหญิง ฮอร์โมน และอื่น ๆ

ผลรวมจากปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าว ซึ่งแต่ละคนมีปัจจัยที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ทางเดินหายใจส่วนบนแคบลงจำเป็นต้องหายใจเข้าแรงขึ้น อากาศที่ผ่านเข้าออกจะเสียดสีกับเนื้อเยื่อรอบข้าง จนเกิดการสั่นสะเทือนและมีเสียงกรนเกิดขึ้นตามมา และหากหายใจแรงมากอาจทำให้ทางเดินหายใจยุบ และเกิดการหยุดหายใจจากการอุดกั้นตามมาได้

แนวทาง การรักษานอนกรน

            เนื่องจากแต่ละคนมีปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการนอนกรนแตกต่างกัน ทำให้การรักษานอนกรนแต่ละคนไม่เหมือนกันและต้องใช้แนวทางการรักษาแบบเฉพาะบุคคล (personalized therapy) ขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ระดับความรุนแรง อาการ ผลการตรวจร่างกาย ผลการทดสอบการนอนหลับ (sleep test) สาเหตุของโรค และโรคร่วม รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ เฉพาะบุคคล และข้อดี ข้อเสียของการรักษาแต่ละวิธีซึ่งได้ผลในแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยมีแนวทางคร่าว ๆ ได้แก่

1.  การรักษาแบบอนุรักษ์ หรือดูแลตนเองเบื้องต้น เช่น ปรับสุขอนามัยการนอน นอนตะแคง ลดน้ำหนัก งดเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดยาบางประเภท และอื่น ๆ

2.  การรักษาปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วม เช่น จมูกอักเสบภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ทอลซิลอักเสบ เนื้องอกทางเดินหายใจ โรคทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ หรืออื่น ๆ

3.  การรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (positive airway pressure) นิยมเรียกว่า CPAP “ซีแพ็บ” หรือ continuous positive airway pressure) โดยเครื่องจะเป่าลมผ่านทางช่องจมูก และหรือทางปาก เพื่อให้มีความดันลมแรงพอที่ จะเปิดช่องคอซึ่งเป็นทางเดินหายใจส่วนบนได้ตลอดเวลาขณะหลับ

4.  การใช้อุปกรณ์ในช่องปาก (oral appliances) หลักการคือ ใส่เครื่องมือลักษณะคล้ายฟันยางหรือเครื่องดัดฟัน เพื่อป้องกันลิ้นตกไปอุดกั้นทางเดินหายใจ 

5.  การผ่าตัดทางเดินหายใจส่วนบน (upper airway surgery) ปัจจุบันมีหลายวิธี เช่น  การใช้คลื่นวิทยุ (radiofrequency หรือ RF), การผ่าตัดแก้ไขผนังกั้นช่องจมูก (septoplasty), การตัดทอลซิล (tonsillectomy) การตัดอะดีนอยด์ (adenoidectomy), การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน (uvulopalatopharyngoplasty)  การผ่าตัดเลื่อนกระดูกขากรรไกรบนล่างมาด้านหน้า (maxillomandibular advancement), การเจาะคอ (tracheostomy) และอื่น ๆ

6.  การรักษาด้วยยาหรือทางเลือกอื่น เช่น ยาพ่นจมูก เครื่องกระตุ้นประสาท การฝึกกล้ามเนื้อ และอื่น ๆ
 
*จะเห็นได้ว่า นอนกรน แก้ได้ ถ้าเข้าใจ ชนิดของปัญหา ระดับความรุนแรง ปัจจัยที่เป็นสาเหตุ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ หากผู้ที่นอนกรนลองทำด้วยตนเองแล้วไม่ดีขึ้น ควรมาพบแพทย์เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของอันตรายต่าง ๆ ได้ ซึ่งแพทย์จะให้คำปรึกษาเพื่อรักษาอาการและป้องกันผลแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดตามมาต่อไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้