การใช้คลื่นความถี่วิทยุจี้เพดานอ่อน รักษานอนกรน

11100 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การใช้คลื่นความถี่วิทยุจี้เพดานอ่อน รักษานอนกรน

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ วิชญ์ บรรณหิรัญ
American Board of Sleep Medicine,
Certified international sleep specialist

  การใช้คลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency หรือ RF) จี้เพดานอ่อน (soft palate) เป็นการรักษา นอนกรน และโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea หรือ OSA) ที่นิยมมากในปัจจุบัน การรักษาวิธีนี้ทำโดยที่แพทย์จะใส่เครื่องมือซึ่งเป็นเข็มชนิดพิเศษแทงเข้าไปในเนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อน จากนั้นจะปล่อยคลื่นความถี่วิทยุผ่านทางหัวเข็มเข้าไปในเนื้อเยื่อ เพื่อเปลี่ยนเป็นความร้อนและทำให้เนื้อเยื่อเพดานอ่อนเกิดเป็นพังผืดและมีการหดตัว ซึ่งจะทำให้ ทางเดินหายใจกว้างขึ้นและมีการสั่นสะเทือนขณะหายใจน้อยลง วิธีนี้มีความเสี่ยงต่ำสามารถทำได้โดยใช้เพียงยาชาเฉพาะที่ ใช้เวลาประมาณเพียง 5-10 นาที (ไม่ต้องดมยาสลบ และไม่ต้องนอนโรงพยาบาลหลังรักษา) ยกเว้นบางรายที่ต้องอยู่เพื่อสังเกตอาการ  แผลที่เกิดขึ้นจะอยู่ในช่องคอใต้เยื่อบุผิวเพดานอ่อน และมักมีขนาดเล็ก  อาการปวดหรือเจ็บแผลหลังผ่าตัดน้อย ส่วนใหญ่จะทำเพียง 1-2 ครั้ง แต่อาจพิจารณาทำเพิ่มได้ตามความเหมาะสม

  ผลการรักษา
ผลของการรักษาด้วยการใช้คลื่นความถี่วิทยุจี้เพดานอ่อน หรือ RF palate จะเริ่มเห็นผลประมาณ 2 สัปดาห์หลังทำและจะได้ผลมากที่สุดประมาณ 6 สัปดาห์ โดยมีงานวิจัยยืนยันว่า สามารถลดเสียงนอนกรน และความรุนแรงของ OSA รวมถึงทำให้คุณภาพการนอนหลับดีขึ้นได้ หากวินิจฉัยและเลือกผู้ป่วยได้ดีและใช้เทคนิคการทำที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามในระยะยาวอาจมีอาการกลับมาเป็นซ้ำและอาจพิจารณาทำซ้ำได้อีกตามความจำเป็น หรือใช้ทางเลือกอื่นร่วมด้วย

  การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด 
ผู้ป่วยควรจะรักษาสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ ซึ่งอาจทำให้ต้องเลื่อนการรักษา ในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยาบางชนิด เช่น แอสไพริน หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด ต้องหยุดยาก่อนผ่าตัดหลายวัน ดังนั้นจึงต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินความพร้อมของผู้ป่วยก่อน และบางครั้งอาจต้องตรวจเลือดหรืออื่น ๆ

  ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น   
การรักษาด้วยความถี่วิทยุนี้ โดยทั่วไปพบได้น้อยและไม่รุนแรง เช่น อาจมีเลือดออกซึ่งมักมีปริมาณน้อยและหยุดได้เอง  หรือบางรายอาจรู้สึกหายใจไม่สะดวกจากการบวมของทางเดินหายใจหลังรักษา สำหรับบางรายอาจมีผลข้างเคียงจากยาชาเฉพาะที่ (ใช้ยากลุ่มเดียวกับที่ใช้รักษาทำฟัน หรืองานทันตกรรม) เช่น แพ้ยาชา ใจสั่น  หน้ามืด วิงเวียน ซึ่งมักเป็นชั่วคราวและหายได้เองอย่างรวดเร็วเมื่อยาหมดฤทธิ์ อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หรือลมชัก อาจมีความเสี่ยงจากการรักษาสูงขึ้นกว่าคนปกติ

  การปฏิบัติตนและสิ่งที่ควรทราบหลังรักษา 
1. ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังรักษาประมาณไม่เกิน 30 นาที ยกเว้นบางรายแพทย์อาจสังเกตอาการนานขึ้น  
2. ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บคอได้เล็กน้อย ส่วนมากไม่เกิน 1 สัปดาห์ อาจใช้ยาแก้ปวด หรือยาแก้อักเสบเท่าที่จำเป็น  
3. ในสัปดาห์แรกผู้ป่วยบางรายอาจมีทางเดินหายใจบวมขึ้น ทำให้หายใจไม่สะดวก และนอนกรนอาจยังไม่ดีขึ้น  ดังนั้นในช่วงแรกควรนอนศีรษะสูงขึ้นเล็กน้อย อมน้ำแข็งบ่อยๆ  และไม่ควรรับประทานอาหารรสจัดหรือเผ็ดร้อน 
4. ควรรักษาความสะอาดในช่องปากอย่างสม่ำเสมอ เช่น บ้วนปากและแปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร

  การนัดตรวจติดตามอาการ      
หลังรักษาประมาณ 1 สัปดาห์ แพทย์จะนัดมาดูแผลครั้งแรก เพื่อประเมินผลการรักษาและภาวะแทรกซ้อน หลังจากนั้นอาจนั้นอีกประมาณ 3-4 สัปดาห์ถัดมา ในกรณีถ้าการนอนกรน หรือหยุดหายใจขณะหลับไม่ดีขึ้น  แพทย์จะพิจารณาทางเลือกในการรักษาอื่น ๆ ที่เหมาะสมต่อไป

  บริการของ PHC clinic

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้