อุปกรณ์ในช่องปาก (oral appliance) รักษานอนกรน หยุดหายใจ

13503 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อุปกรณ์ในช่องปาก (oral appliance) รักษานอนกรน หยุดหายใจ

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ วิชญ์ บรรณหิรัญ
American Board of Sleep Medicine,
Certified international sleep specialist

อุปกรณ์ในช่องปาก (oral appliance) เป็นอีกทางเลือกในการรักษานอนกรน และโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea หรือ OSA) ที่ดีอีกวิธีหนึ่ง สามารถใช้ด้วยการให้ผู้ป่วยสวมอุปกรณ์ในปากขณะนอนหลับ โดยมีกลไกในการรักษา คือ อุปกรณ์จะยึดขากรรไกรและหรือลิ้นมาทางด้านหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ้นหรือเนื้อเยื่อในลำคอหย่อนลงไปอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ ทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น  

  อุปกรณ์ในช่องปากเหมาะกับผู้ป่วยรายใด
ผลการรักษาวิธีนี้ส่วนมากดีใน ผู้ป่วยที่เป็นโรคระดับไม่รุนแรงมากและไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ ที่เป็นข้อห้าม อย่างไรก็ตามท่านต้องพบ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางการนอนหลับที่ได้รับวุฒิบัตรหรืออนุมัติบัตรจากแพทยสภา (certified sleep specialist) โดยควรได้รับการทดสอบการนอนหลับ (sleep test) ก่อน แล้วจึงพิจารณาได้ว่า ผู้ป่วยเหมาะสมและปลอดภัยสำหรับการรักษาด้วยวิธีนี้หรือไม่

ภาพวาดโดย พญ.รัชรียา สุขเสงี่ยม ภาพถ่ายโดย นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญและ ทพ.ดร.สมศักดิ์ ไมตรีรัตนะกุล

  อุปกรณ์ในช่องปากมีกี่แบบ อะไรบ้าง 
ปัจจุบันอาจแบ่งอุปกรณ์ออกเป็นชนิดต่าง ๆ ได้แก่  
1. อุปกรณ์ยึดลิ้นให้ยื่นมาด้านหน้า (tongue retaining device) เป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยยึดลิ้นไว้ให้ยื่นมาทางด้านหน้า ไม่ให้ตกลงไปอุดทางเดินหายใจขณะนอนหลับ ส่วนใหญ่เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีฟัน ผู้ที่มีโรคเหงือก หรือโรคของข้อต่อขากรรไกร (temporomandibular disorder)

2. อุปกรณ์เลื่อนขากรรไกรล่างมาด้านหน้า (mandibular advancement device) เป็นอุปกรณ์ชนิดที่นิยมใช้ที่สุดในปัจจุบัน ทำหน้าที่ช่วยปรับเลื่อนตำแหน่งขากรรไกรล่างให้ยื่นไปทางด้านหน้า ซึ่งจะช่วยดึงรั้งลิ้น เพดานอ่อน และเนื้อเยื่อบริเวณใต้คางมาด้านหน้าด้วย ปัจจุบันอุปกรณ์ในกลุ่มนี้มีอยู่หลายชนิดซึ่งมีซึ่งมีความแตกต่างกันตามวัสดุที่ใช้ประกอบ วิธีการปรับอุปกรณ์ ความทนทานของอุปกรณ์ ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยส่วนมากจะทำเป็นแบบเฉพาะบุคคล หรือแบบ custom-made ซึ่งต้องมีการพิมพ์ฟันเพื่อทำเป็นโมเดล ส่งให้ห้องปฏิบัติการทางทันตกรรม  และชนิดอุปกรณ์แบบกึ่งสำเร็จรูปชนิดสามารถปรับให้ยื่นเพิ่มได้หรือแบบ prefabricated titratable อย่างไรก็ตามแต่ละแบบควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับที่ได้รับวุฒิบัตรหรืออนุมัติบัตรจากแพทยสภา หรือทันตแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมทางด้านนี้

  วิธีนี้มีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร
ข้อดีของอุปกรณ์ในช่องปาก คือ ความสะดวกในการใช้และสามารถพกพาขณะเดินทางได้ง่าย นอกจากนี้ยังสามารถใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่น ๆ รวมถึงใช้หลังผ่าตัดทางเดินหายใจส่วนบน หรืออาจใช้สลับกับ CPAP ได้อีกด้วย ส่วนข้อเสียหรือผลข้างเคียง คือ ในช่วงแรกผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการเจ็บบริเวณฟันหรือเหงือกที่ใส่เครื่องครอบฟัน และอาจมีอาการปวดเมื่อยหรือรู้สึกไม่สบายบริเวณกรามและขากรรไกรได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีน้ำลายออกมากผิดปกติ หรือปากแห้ง หากใช้ไม่ถูกวิธีผู้ป่วยบางรายอาจมีการสบฟันที่ผิดปกติได้ อย่างไรก็ตามปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้มักไม่รุนแรง เป็นระยะสั้น และสามารถแก้ไขได้   

  ขั้นตอนการติดตามการรักษ
หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการทำอุปกรณ์ แพทย์จะนัดผู้ป่วยส่วนมากในสัปดาห์ถัดไปเมื่อได้อุปกรณ์ที่ประกอบเสร็จจากห้องปฏิบัติการ โดยทันตแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาใส่เครื่องมือและปรับอุปกรณ์อีกครั้งตามความเหมาะสมและความจำเป็น โดยผู้ป่วยควรใช้อุปกรณ์อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อติดตามการรักษาร่วมด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ผู้ป่วยสามารถใช้อุปกรณ์ได้อย่างถูกต้อง ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และป้องกันแก้ไขปัญหาหรือภาวะแทรกซ้อนได้อย่างเหมาะสมต่อไป

  บริการของ PHC clinic

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้